วันที่ 19 มิถุนายน 2568 จากความร่วมมือระหว่างศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้โครงการ “การพัฒนาแพลตฟอร์มชีววิทยาสังเคราะห์และเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายด้านพลังงาน เคมี และวัสดุชีวภาพ” ได้มีการจัดประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) ครั้งที่ 3 ณ ห้องประชุมหว้ากอ 2 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) อาคารจัตุรัสจามจุรี และผ่านระบบออนไลน์ เพื่อสรุปรวบยอดข้อเสนอเชิงนโยบายจากการประชุมครั้งก่อนหน้า และยืนยันกรอบทิศทางการขับเคลื่อนเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ของประเทศในอนาคต
ชีววิทยาสังเคราะห์ (Synthetic Biology) คือเทคโนโลยีก้าวหน้า (Frontier Technology) ที่สามารถออกแบบสิ่งมีชีวิตหรือชิ้นส่วนชีวภาพใหม่ โดยผสานความรู้จากชีววิทยา วิศวกรรม และปัญญาประดิษฐ์เข้าด้วยกัน เพื่อตอบโจทย์การผลิตสารชีวภาพ พลังงานสะอาด และวัสดุทดแทนในโลกยุคคาร์บอนต่ำ ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการต่อยอดเทคโนโลยีนี้ โดยเฉพาะในสาขาเป้าหมาย ได้แก่ พลังงานชีวภาพ สารเคมีชีวภาพ และวัสดุชีวภาพ ซึ่งเชื่อมโยงกับทรัพยากรชีวภาพของประเทศและภาคเกษตรกรรมโดยตรง
ข้อคิดเห็นจากการประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 3 สรุปข้อเสนอสำคัญ 3 ด้านที่ประเทศไทยควรดำเนินการอย่างเร่งด่วน ดังนี้
1. การกำหนดโจทย์วิจัยเป้าหมายและการลงทุนวิจัยเชิงกลยุทธ์
ควรมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์เพื่อแปรรูปวัตถุดิบเหลือใช้ให้เป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง เช่น พลาสติกชีวภาพ สารตั้งต้นในอุตสาหกรรมยา และเชื้อเพลิงชีวภาพชนิดใหม่ ควรส่งเสริมการวิจัยด้าน Metabolic Engineering, Gene Editing, Cell-free Systems และ Automation รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์ม AI เพื่อเร่งรัดกระบวนการออกแบบสายพันธุ์จุลินทรีย์ให้มีความแม่นยำและประสิทธิภาพสูงขึ้น
2. การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแบบเปิด (Shared Infrastructure)
ผู้เข้าร่วมประชุมเห็นพ้องให้มีการจัดตั้งศูนย์โครงสร้างพื้นฐานที่สามารถใช้งานร่วมกันได้ (Shared Facilities) ในลักษณะศูนย์กลาง-เครือข่าย (Hub-and-Spoke) เพื่อสนับสนุนภาคการวิจัยและอุตสาหกรรม เช่น ห้องปฏิบัติการมาตรฐาน GMP, Biofoundry, ระบบหมักชีวภาพระดับนำร่อง และคลังชีวภัณฑ์ (BioResource Bank) เพื่อให้เกิดระบบ “Design–Build–Test–Learn” ที่ครบวงจร ลดความเสี่ยงในการลงทุนของผู้ประกอบการ และเพิ่มศักยภาพในการขยายผลเชิงพาณิชย์
3. การสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่เอื้อต่อการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีอย่างยั่งยืน
ข้อเสนอรวมถึงการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับ GMOs และการทดลองเทคโนโลยีชีวภาพในระดับจริง การกำหนดแนวทางการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การจัดตั้งกลไกสนับสนุนการลงทุน เช่น Matching Fund และ Tax Incentive รวมถึงการพัฒนากลยุทธ์การสื่อสารสาธารณะเพื่อสร้างความเข้าใจต่อชีววิทยาสังเคราะห์ในวงกว้าง ควบคู่กับการส่งเสริม “การวิจัยและนวัตกรรมอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Research and Innovation)”
จากที่ประชุมกล่าวว่า “ข้อเสนอจากทุกภาคส่วนที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้จะมีบทบาทสำคัญต่อการออกแบบนโยบายด้านชีววิทยาสังเคราะห์ของประเทศในระยะยาว โดยเฉพาะในช่วงปี 2569–2573 ที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจชีวภาพและเป้าหมายคาร์บอนต่ำ โดยต้องสร้างระบบสนับสนุนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อให้เทคโนโลยีชีวภาพสามารถเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคมไทยได้จริง”
ข้อคิดเห็นจากการประชุมกลุ่มย่อยครั้งนี้จะถูกรวบรวมและนำเสนอแก่หน่วยงานนโยบายเพื่อพิจารณาประกอบการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ของบพข.และระดับชาติ เพื่อต่อยอดไปสู่การลงทุน การพัฒนาทุนมนุษย์ และการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่รองรับอุตสาหกรรมชีวภาพในอนาคต