สวทช.-บพข. ประชุมระดมสมองกำหนดทิศทางวิจัย “ชีววิทยาสังเคราะห์” ด้านพลังงาน เคมี และวัสดุชีวภาพ

ข่าวสาร

12 พฤษภาคม 2568

S__3793413

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ได้จัดการประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) ในหัวข้อ “การกำหนดกรอบโจทย์วิจัยที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ ด้านพลังงาน เคมี และวัสดุชีวภาพ” ห้องประชุม 711 ชั้น 7 อาคารสำนักงาน สวทช. ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพมหานคร และผ่านระบบออนไลน

การประชุมครั้งนี้เน้นย้ำถึงเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ของประเทศไทย โดยเฉพาะในด้านพลังงานสะอาด เคมี และวัสดุชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ การพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยลดการนำเข้าวัตถุดิบและเพิ่มความมั่นคงทางเศรษฐกิจผ่านการผลิตสารตั้งต้นและวัสดุที่มีศักยภาพจากทรัพยากรชีวภาพภายในประเทศ อีกทั้งยังสามารถช่วยแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและโลกร้อน ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการใช้ของเสียเป็นวัตถุดิบในการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ

ที่ประชุมได้เสนอกรอบการพิจารณาโจทย์วิจัยที่เหมาะสม ซึ่งครอบคลุม 4 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจ เช่น ศักยภาพของตลาด ความโดดเด่นของผลิตภัณฑ์ และผลเสียหากไม่มีการดำเนินการวิจัย ด้านความเป็นไปได้ เช่น ระยะเวลาในการส่งมอบ ความเสี่ยง ความพร้อมของภาคเอกชน และความมั่นคงของวัตถุดิบ ด้านความพร้อมทางวิทยาศาสตร์ เช่น ความเชี่ยวชาญของทีมวิจัยและโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา และด้านการใช้ชีววิทยาสังเคราะห์เป็นเทคโนโลยีหลัก ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีความได้เปรียบเชิงเทคนิคและแตกต่างจากแนวทางเดิม

ในส่วนของตัวอย่างโจทย์วิจัยที่ถูกเสนอ มีการระบุทิศทางไว้หลากหลาย อาทิ การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ การพัฒนาเชื้อเพลิงการบินอย่างยั่งยืน (SAF) การออกแบบจุลินทรีย์ที่ใช้แสงหรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการผลิตพลังงาน รวมถึงการพัฒนาแบตเตอรี่ชีวภาพ ในด้านวัสดุชีวภาพ มีการเน้นที่การพัฒนาโพลิเมอร์ที่สามารถย่อยสลายได้ ส่วนในด้านเคมีชีวภาพ มีการเสนอให้วิจัยการผลิตสารเคมีชีวภาพที่มีมูลค่าสูง เช่น Bio-isoprenoids หรือสารที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและยา อีกทั้งยังมีโจทย์ร่วม เช่น การใช้ก๊าซ CO₂ หรือของเสียทางเกษตรในการผลิตสารชีวภาพ และการออกแบบเครื่องมือทางด้าน Synthetic Biology ที่ช่วยหลีกเลี่ยงปัญหาสิทธิบัตร

สำหรับปัจจัยสนับสนุนที่จำเป็นต่อการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยนั้น แบ่งออกเป็นสองส่วนหลัก ได้แก่ ด้านเทคโนโลยีและกระบวนการ ซึ่งครอบคลุมการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ควบคู่กับเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ในการออกแบบ Metabolic Pathway และ Cell Factory การพัฒนา Bioreactor ที่มีต้นทุนต่ำแต่มีประสิทธิภาพสูง รวมถึงความสามารถในการขยายขนาดกระบวนการหมักและ bioprocess อีกด้านหนึ่งคือ ด้านระบบนิเวศและทุนวิจัย ที่จำเป็นต้องมีการสนับสนุนทุนในรูปแบบ Consortium หรือ Block Grant ที่เชื่อมโยงนักวิจัย ภาคเอกชน และภาครัฐเข้าด้วยกัน พร้อมกับการพัฒนาเครื่องมือทางด้าน Synthetic Biology ที่ประเทศสามารถถือครองสิทธิ์ได้เอง และการมีโครงสร้างพื้นฐานด้านกฎหมายและนโยบายที่เอื้อต่อการนำผลงานวิจัยเข้าสู่ตลาด

อย่างไรก็ดี ยังมีปัญหาและอุปสรรคสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข เช่น การขาดมาตรฐานระดับสากล อาทิ carbon footprint หรือมาตรฐานคุณภาพของผลิตภัณฑ์ชีวภาพ การขาดการเชื่อมโยงระหว่างงานวิจัยกับภาคเอกชนตั้งแต่ต้นน้ำ ส่งผลให้ผลงานวิจัยจำนวนมากไม่สามารถต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ได้ อีกทั้งยังมีความท้าทายจากการบริหารนโยบายที่ยังขาดความบูรณการระหว่างหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการขาดความชัดเจนและต่อเนื่องในการให้ทุนวิจัย ผลิตภัณฑ์ชีวภาพจากไทยยังไม่โดดเด่นพอที่จะแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ และที่สำคัญคือ ประเทศไทยยังขาดบุคลากรที่มีทักษะเชิงเทคนิคสมัยใหม่ในหลายสาขาที่จำเป็น เช่น วิศวกรรมชีวภาพ ชีวเคมี ระบบข้อมูลชีวภาพ และการตลาดนวัตกรรม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพในอนาคต

จากการประชุมกลุ่มย่อยครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยในการพัฒนาเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ให้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพในอนาคต ทั้งในด้านพลังงานสะอาด วัสดุทางเลือก และสารเคมีมูลค่าสูง อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของการดำเนินงานในระดับนโยบายและการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ยังต้องอาศัยการสนับสนุนอย่างเป็นระบบจากทุกภาคส่วน ทั้งการวางโจทย์วิจัยที่สอดคล้องกับตลาด การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม การออกแบบกลไกทุนวิจัยที่มีความยืดหยุ่น ตลอดจนการเร่งสร้างกำลังคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะหลากหลาย เพื่อตอบรับความท้าทายของโลกในยุคที่ชีววิทยาไม่ใช่แค่การศึกษา แต่คือเครื่องมือสำคัญในการสร้างอนาคตอย่างยั่งยืน

ข่าวสารล่าสุด

เปิดมุมมองใหม่สู่อุตสาหกรรมเอทานอลไทย: Fermentec แบ่งปันประสบการณ์จากบราซิล เสริมศักยภาพการแข่งขันระดับโลก

15 พฤษภาคม 2568

BIOTEC จัดกิจกรรมเสวนาหัวข้อ “Agro and Bio Industry Through Bio-Innovation” เสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทย ยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพด้วยนวัตกรรมฐานชีวภาพ

30 เมษายน 2568

BIOTEC จัดสัมมนา “AI กับชีววิทยาสังเคราะห์” เปิดโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้สู่ภาคอุตสาหกรรม

27 มีนาคม 2568

การประชุมเชิงปฏิบัติการ “Dissemination and Recommendations” ภายใต้โครงการศึกษาสถานภาพและแนวโน้มของ Engineering Biology/Synthetic Biology ในประเทศไทย

26 กุมภาพันธ์ 2568

การประชุมนานาชาติด้านชีววิทยาสังเคราะห์ในประเทศไทย ประจำปี 2567 (SynBio Consortium 2024): ก้าวสำคัญสู่อนาคตของนวัตกรรมชีวภาพ

13 กุมภาพันธ์ 2568

ดร.กิติพงค์ สอวช. ได้รับเชิญปาฐกถางาน OECD Global Forum on Technology ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส

23 เมษายน 2567

SynBio Consortium Conference 2023: Advancing “The Game Changer”

26 ตุลาคม 2566

BOI หนุนอุตสาหกรรม SynBio มอบสิทธิพิเศษให้กับผู้ประกอบการ

02 พฤษภาคม 2566

เตรียมตัวพบกับงานสัมมนาวิชาการ หัวข้อ “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ด้วย Synthetic Biology Technology

05 เมษายน 2566

KU SynBio เรียนเชิญผู้ประกอบการทุกภาคส่วนร่วมตอบต้องการบุคลากรด้านชีววิทยาสังเคราะห์ (Synthetic Biology)

04 เมษายน 2566

KU SynBio เรียนเชิญนักศึกษาปริญญาตรี ร่วมตอบแบบสอบถามมหาบัณฑิต (นานาชาติ) สาขาชีววิทยาสังเคราะห์

04 เมษายน 2566

KU SynBio จัดประชุมหารือการจัดตั้งหลักสูตร “ชีววิทยาสังเคราะห์แห่งแรกในประเทศไทย”

27 กุมภาพันธ์ 2566