วันที่ 14 พฤษภาคม 2568 ณ ห้องประชุมหว้ากอ 1 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ชั้น 14 อาคารจัตุรัสจามจุรี ได้มีการจัดงานสัมมนาครั้งสำคัญในหัวข้อ “Brazil’s Ethanol Industry: Experience Sharing & Strengthening Thailand’s Ethanol Competitiveness” ซึ่งเป็นเวทีที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญและผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมเอทานอล เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์เชิงลึกจากประเทศบราซิล หนึ่งในผู้นำด้านการผลิตเอทานอลของโลก และหาแนวทางในการยกระดับขีดความสามารถของอุตสาหกรรมเอทานอลของประเทศไทย
การสัมมนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิร่วมกล่าวเปิดงานและให้การต้อนรับ โดยมี ดร.เสกสรรค์ พรหมนิช ประธานคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมเอทานอล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอว.) และ ดร.นตพร จันทร์วราสุทธิ์ นักยุทธศาสตร์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้ร่วมกันเน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของอุตสาหกรรมเอทานอลในการขับเคลื่อนประเทศสู่ความมั่นคงด้านพลังงานและการเกษตรที่ยั่งยืน
ต่อจากนั้น ดร.สิรินยา ลิม ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายยุทธศาสตร์องค์กร สกสว. ได้นำเสนอภาพรวมเกี่ยวกับกรอบนโยบายสำหรับการส่งเสริมการเกษตรแบบยั่งยืนและการกำหนดยกระดับมาตรฐานความยั่งยืน ซึ่งถือเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมเอทานอลในระยะยาวและสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของประชาคมโลก
ช่วงที่ได้รับความสนใจอย่างยิ่งคือการนำเสนอข้อมูลเชิงลึกจาก Fermentec บริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการให้บริการโซลูชันทางเทคโนโลยีและคำปรึกษาสำหรับอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาล เอทานอล โดย Mr. Alexandre Godoy, Managing Director ของ Fermentec ได้มาแบ่งปันประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับภาพรวมของอุตสาหกรรมเอทานอลในบราซิล ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์การผลิต การบริโภคภายในประเทศ รวมถึงนโยบายและมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐที่ได้ผลักดันให้อุตสาหกรรมเติบโตอย่างแข็งแกร่ง นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงความท้าทายที่สำคัญ โดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคากับเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นประเด็นที่อุตสาหกรรมเอทานอลทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่
นอกจากการนำเสนอภาพรวม Fermentec ยังได้เจาะลึกถึงหลักการพื้นฐานที่สำคัญของการหมักเอทานอลและการใช้เทคนิคเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตสูงสุด โดย Mr. Alexandre Godoy ได้ให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาและยกระดับกระบวนการผลิตในโรงงานเอทานอลของไทยได้
ในส่วนของการสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา ดร.นาวิน วิริยะเอี่ยมพิกุล ผู้อำนวยการแผนงานกลุ่มพลังงานชีวภาพ วัสดุและเคมีชีวภาพ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนสนับสนุนต่างๆ ที่มีพร้อมสำหรับส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมและยกระดับเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมเอทานอล
การสัมมนาได้ปิดท้ายลงด้วยการเสวนาโต๊ะกลม ซึ่งเป็นเวทีเปิดให้ผู้เข้าร่วมงานได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง ประสบการณ์ และข้อคิดเห็นในประเด็นทางด้านเทคโนโลยีและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเอทานอล การเสวนานี้ถือเป็นโอกาสอันมีค่าในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ นักวิจัย และหน่วยงานภาครัฐ เพื่อผนึกกำลังกันขับเคลื่อนและกำหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเอทานอลของประเทศไทยให้มีความแข็งแกร่งและแข่งขันได้ในระดับสากลต่อไป
งานสัมมนา Fermentec ในครั้งนี้ จึงนับเป็นก้าวสำคัญที่อุตสาหกรรมเอทานอลของไทยได้เรียนรู้จากบทเรียนความสำเร็จและความท้าทายจากประเทศบราซิล เพื่อนำองค์ความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับไปปรับใช้และพัฒนาอุตสาหกรรมของตนเองให้เติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต