Thai SynBio Forum | วงในชีววิทยาเหนือธรรมชาติ
EP.01: International Policy and Collaboration in SynBio
หลายท่านอาจจะเคยได้ยินคำว่า SynBio, Synthetic Biology, หรือ ชีววิทยาสังเคราะห์มาบ้าง โดยเฉพาะถ้ากดเข้ามาอ่านบทความนี้ได้ แต่สิ่งที่เราได้เห็นได้อ่านได้ฟังเกี่ยวกับ SynBio นั้นส่วนมากจะเป็นการตีความให้เข้าใจง่ายขึ้น เพื่อให้คนที่ไม่ได้อยู่ในวงการเข้าใจได้ในจากการอ่าน หรือฟังสั้นๆ แต่จะเป็นไปได้ไหมที่เราหยิบเอาบทสนทนาของคนในวงการมาเล่าในบริบทที่ไม่ทางการหรือวิชาการจนเกินไป ให้เหมือนกับการนั่งคุยกันบนโต๊ะอาหารในร้านเจ้าประจำหลังเลิกงานวันศุกร์ นี่เองที่อดีตทีมงาน “รวยด้วย SynBio” (1) จากเพจ “Biology Beyond Nature: ชีววิทยาเหนือธรรมชาติ” ที่เคยจัดรายการ podcast ไว้ในช่วงปี 2021 – 2022 กว่า 26 episodes จึงอยากจะหยิบเอาหัวข้อบทสทนาที่เคยได้คุยกันมาปัดฝุ่นเล่าให้อีกครั้งในชื่อรายการ SynBio Forum | วงในชีววิทยาเหนือธรรมชาติ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงานในภาครัฐ นำโดยภาคีเครือข่ายชีววิทยาสังเคราะห์แห่งประเทศไทย หรือ Thailand SynBio Consortium สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (The Federation of Thai Industries – FTI) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เพื่อที่จะชวนนักวิจัย นักพัฒนาในด้าน SynBio มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวคิดในประเด็นต่างๆ ให้กับผู้ฟังที่อาจจะไม่ได้ติดตามวงการอย่างใกล้ชิด
นโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศ? เกี่ยวกับ SynBio ยังไง?
ในการเสวนาบทแรกนี้ เราจะมาพูดคุยกันในหัวข้อ International Policy and Collaboration หรือ นโยบายและความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งสืบเนื่องมาจากหลักคิดทาง Synthetic Biology ที่เกิดจากการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ในหลายแขนงเข้าด้วยกัน ความร่วมมือทั้งในเชิงวิชาการและเชิงนโยบาย ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ระดับชาติ ไปจนถึงระดับนานาชาติ จึงส่งผลต่องานวิจัยและพัฒนาของวงการชีววิทยาสังเคราะห์มากๆ การเสวนาในวันนี้จึงจะเน้นไปที่นโยบาย โครงการ และการจัดการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละภูมิภาคโดยมีผู้ร่วมสนทนาที่มีประสบการณ์การทำวิจัยในหลากหลายประเทศทั้งในประเทศไทยโดยมี อ. ต้น ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร ที่ทำงานวิจัยด้านชีววิทยาสังเคราะห์ในประเทศไทยเป็นตัวแทน อ. ต้น เป็นผู้ก่อตั้งเพจ Biology Beyond Nature และทำงานในด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ในหลาย platform เราได้ชวน ย้งยี้ โศภิดา วงศ์วาสน์ ดร. ป้ายแดงที่ทำวิจัยในโซนยุโรป ณ มหาวิทยาลัยวอริค (Universtiy of Warwick) โดนเน้นทำงานวิจัยด้านการผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากเทคโนโลยีชีวภาพ และผู้ดำเนินรายการ ไอซ์ ชลพิสิฐ เกียรติเสวี ที่เรียนปริญญาเอกสหรัฐอเมริกา ณ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน (University of Washington) และปัจจุบันทำงานวิจัยด้านชีววิทยาสังเคราะห์อยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology) หรือที่มักเรียกกันสั้นๆ ว่า MIT
วิทยาศาสตร์ไร้พรมแดน วิศวกรรมข้ามสายพันธุ์
วงเสวนาบนโต๊ะอาหารของเราเริ่มด้วยคำถามง่ายๆ อย่างการแชร์ประสบการณ์ในเรื่องของความร่วมมือทางวิชาการ วลีเด็ดจาก อ. ต้น ที่ว่า “ความพิเศษของวงการวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่งก็คือมันไม่ค่อยมีพรมแดน มันผสมข้ามสายพันธุ์กันมั่วไปหมด” สื่อความหมายว่าวงการวิจัย โดยเฉพาะในแวดวงการศึกษาเนี่ย มันมีการพูดคุยติดต่อกันข้ามประเทศ ข้ามวงการอยู่สม่ำเสมอ ทำให้เรามีโอกาสได้ติดต่อกันอยู่เสมอๆ ในทุกๆ มุมโลก และยังมีภาษาในการสื่อสารที่ค่อนข้างจำเพาะจนคุยกันรู้เรื่องแค่ในวงการ เป็นภาษาที่จำเพาะจนถึงขนาดที่ว่าคนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาตั้งแต่เกิดก็อาจจะไม่ได้เข้าใจบนสนทนาตรงนี้ชัดเจนเท่ากับคนต่างชาติที่ทำงานวิจัยอยู่ในวงการ โดยประสบการณ์ของ อ. ต้น เองก็มีความร่วมมือกับต่างประเทศอยู่สม่ำเสมอทั้งโซนที่เรียนจบมาและที่ได้ไปทำวิจัยหลังปริญญาเอก ปัจจุบันก็มีทั้งทุนที่เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและเยอรมันโดยเฉพาะ มีการขอทุนร่วมกับทีมวิจัยในไทยและต่างประเทศร่วมกัน ไปจนถึงการไปขอทุนจากประเทศสหรัฐอเมริกาโดยตรง ซึ่งในกรณีนี้ก็ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของผู้ให้ทุนว่าผลที่ได้จากการทำงานวิจัยเหล่านี้จะออกมาเป็นอย่างไร ผลที่เรียบง่ายที่สุดก็คือการเผยแพร่ความรู้หรือกระบวนการที่สอดคล้องกับหัวข้อที่กำหนดขึ้นมาในหน่วยทุนนั้นๆ การสร้างความร่วมมือระหว่างภาคีชีววิทยาสังเคราะห์ก็เป็นโอกาสหนึ่งที่จะช่วยให้ความร่วมมือทางวิชาการในประเทศไทยเป็นไปได้ง่ายขึ้น
การกระจายตัวทางภูมิศาสตร์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคทั้งสามครั้ง
ซึ่งเป็นตัวแทนจากภาคการศึกษา ภาครัฐ และภาคอุตสาหกรรม
(ภาพจาก Engineering Biology Metrics and Technical Standards for the Global Bioeconomy | EBRC)
ประชุมวิชาการ สานต่องานวิจัยระหว่างประเทศ
ในมุมมองของนักเรียนปริญญาเอกที่ไม่ได้เป็นคนขอทุนวิจัยเองหลักๆ ย้งยี้เล่าประสบการณ์การสร้างความร่วมมือจากการไปงานประชุมวิชาการ ที่ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานวิจัยของแต่ละคน จนพัฒนาเป็นความร่วมมือระหว่างกลุ่มวิจัยในอังกฤษและเดนมาร์ค ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความร่วมมือนี้สามารถเริ่มต้นจากการพูดคุยกันของนักเรียนที่อาจจะไม่ได้ทางการเสมอไป เริ่มต้นจากการทำความรู้จักกันเบื้องต้น จนสานต่อเป็นเพื่อนร่วมงานได้ในอนาคต นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่สามารถเพิ่มความร่วมมือระหว่างกลุ่มวิจัยในมหาลัยและภาคเอกชนได้เช่นกัน ยกตัวอย่างการทำงานร่วมกันข้ามประเทศ ข้ามหน่วยงาน อย่างกลุ่มวิจัยของย้งยี้ที่ร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยในอังกฤษและบริษัทเครื่องสำอางค์ในฝรั่งเศสที่ขึ้นชื่อในด้านผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ นอกจากนี้การทำงานวิจัยในมหาวิทยาลัยหรือศูนย์วิจัยของรัฐก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน ไอซ์ได้เล่าประสบการณ์คร่าวๆ เกี่ยวกับการทำงานในมหาวิทยาลัยในฐานะนักเรียนระดับปริญญาเอกกับศูนย์วิจัยระดับประเทศ (National Laboratory) ของอเมริกา ที่นอกจากจะใช้ทักษะในด้านการทำงานวิจัยแล้วยังต้องฝึกฝนและนำเอาทักษะในการสื่อสารและจัดการโครงการมาใช้เมื่อมีทีมงานที่ใหญ่ขึ้น ไปจนถึงการกระจายงานระหว่างทีมวิจัยเพื่อให้งานชีววิทยาสังเคราะห์ที่ต้องการบูรณาการระหว่างสาขาสามารถดำเนินไปได้อย่างสะดวก
สรุปวิสัยทัศน์แห่งชาติสำหรับวิศวกรรมชีวภาพของสหราชอาณาจักร
(ภาพจาก Government publishes £2 billion vision for engineering biology to revolutionise medicine,
food and environmental protection – GOV.UK)
Engineering Biology ขยายอาณาเขตเหนือชีววิทยาสังเคราะห์
ในด้านนโยบายนั้น ทางอังกฤษ (UK) ได้ดำเนินการสร้างวิสัยทัศน์ของประเทศหรือ National Vision for Engineering Biology (2) ในปี 2023 ร่วมกับด้านอื่นๆ คือ Artificial Intelligence (AI), Future Telecommunication, Quantum Technology, และ Semiconductor โดยในส่วนเฉพาะของ Engineering Biology ได้ลงทุนกว่า 2000 ล้านปอนด์เพื่อเร่งการเข้ามาเป็นผู้นำในด้านนี้ในช่วงสิบปีข้างหน้า โดยมีแนวทางคร่าวๆ คือการสร้าง Steering Group สร้าง Infrastructure ของ UK เอง เช่น Bioreactor เพิ่มการลงทุนทั้งระดับปริญญาเอกและหลังปริญญาเอก ไปจนถึงการเพิ่มขอบขีดความสามารถในการแปรรูปเทคโนโลยีออกสู่ตลาด และสร้างงาน Showcase เพื่อสร้างแนวร่วมระหว่างผู้สร้างสเทคโนโลยีและนักลงทุนต่างๆ เพื่อให้เทคโนโลยีด้าน Engineering Biology สามารถตอบโจทย์กับปัจจัยทั้ง 4 และมีมาตรฐานทัดเทียมหรือเหนือกว่าเทคโนโลยีจากภูมิภาคอื่น ซึ่งแนวคิดเหล่านี้สอดคล้องกับการที่ UK ออกจาก The European Union (EU) จึงจำเป็นต้องสร้างแนวทางของตัวเองไม่ใช่แค่จะตามหลังนโยบายของ EU ต่อไปเรื่อยๆ โดยทาง UK เองก็คาดหวังไว้ว่าการลงทุนระดับพันล้านนี้ (Billion) ควรจะให้ผลตอบแทนออกมาในระดับล้านล้าน (Trillion) ภายในราวๆ 20 ปี ข้างหน้า
ในประเด็นนี้เอง ไอซ์ก็ได้เสริมในประเด็นของ Engineering Biology ที่แตกต่างออกไปจาก Synthetic Biology พอสมควร ซึ่งในบริบทนี้ขอแปลภาษาไทยของคำว่า Engineering Biology ว่า “ชีววิศวกรรม” ซึ่งต่างจาก “Biological Engineering” และ “Biomedical Engineering” ที่มันจะใช้คำแปลไทยว่า “วิศวกรรมชีวภาพ” และ “วิศวกรรมชีวการแพทย์” ในขณะที่ “Synthetic Biology” แปลว่า “ชีววิทยาสังเคราะห์” ซึ่งความแตกต่างของคำทั้งสองนี้ชัดเจนขึ้นมาจากหน่วยงานที่ชื่อว่า Engineering Biology Research Consortium (EBRC) ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งพัฒนามาจากหน่วยงานเดิมคือ SynBERC (Synthetic Biology Research Center) (3) ที่ดำเนินการสนับสนุนงานวิจัยด้านชีววิทยาสังเคราะห์มากว่า 10 ปี (2006-2016) ในการเปลี่ยนแปลงนี้เน้นการนำเอาหลักการทางวิศวกรรมมาปรับใช้ในกระบวนการทางชีววิทยาที่อาจจะไม่จำเป็นต้องสร้างขึ้นจากศูนย์เสมอไป เพื่อเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะรับเข้ามาปรับใช้ในวงการ ตัวอย่างง่ายๆ คือการที่เรานำเอาเทคโนโลยีการคัดเลือกพันธุ์ (Genetic Screening) ที่ใช้กันมากในกระบวนการกำบับวิวัฒนาการ (Directed Evolution) เข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อค้นหาจุลินทรีย์พันธุ์ใหม่ๆ ที่อาจจะนำเอามาใช้ในอุตสาหกรรมได้เร็วขึ้นได้ไม่จำเป็นต้องผ่านการดัดแปลงทางพันธุกรรม และสามารถนำเอาไปใช้ได้เร็วขึ้นในเชิงกฎหมายและการควบคุมโดยเฉพาะในด้านการเกษตร อย่างไรก็ตาม วงการชีววิศวกรรมก็ยังคงมีความเกี่ยวเนื่องกับชีววิทยาสังเคราะห์อยู่อย่างมาก โดยล่าสุดทาง EBRC เองก็มีการสร้างมาตรฐานสากล (International Standard) (4) ขึ้นมาร่วมกับสถาบันต่างๆ ทั้งใน US, UK และทีมอื่นๆ เช่น Singapore เป็นต้น
นโยบายแบบ Generic เพื่อเสริม Specific
จากประสบการณ์ของ อ.ต้น เอง ได้ยกประเด็นของนโยบายทางด้านวิทยาศาสตร์ที่อาจจะมีเป้าหมายแตกต่างกันไป โดยยกตัวเองนโยบายออกเป็นสองกลุ่มง่ายๆ คือ Specific Policy (นโยบายจำเพาะ) กับ Generic Policy (นโยบายทั่วไป) ซึ่งคำอธิบายง่ายๆ ก็คือการนโยบายอะไรที่มันใช้ได้ในวงกว้าง เช่นในสายวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมทางชีวภาพทั่วไป หรือใช้ได้ทั่วโลก ก็ถือว่าเป็นนโยบายทั่วไป (Generic) แต่หากว่าเราเจาะจงไปที่งานทางด้านชีววิทยาสังเคราะห์เท่านั้น หรือใช้ได้ในบริบทประเทศไทยเท่านั้น มันก็จะมีความจำเพาะมากขึ้น (Specific) สิ่งที่ยกมาพูดคุยได้ง่ายที่สุดก็คงเป็นเรื่องของ ทรัพยากร (Resource) ที่อาจจะแบ่งไปอยู่ในกลุ่มของ Big Science (โครงการใหญ่) หรือ Small Science (โครงการเล็ก) โดย อ. ต้นให้คำอธิบายง่ายๆ ไว้ว่า Small Science มักจะเป็นโครงการวิจัยแบบ Hypothesis Driven (ใช้สมมติฐานนำ) ในขณะที่ Big Science มักจะเป็นโครงการต้องการ Infrastructure ที่ใหญ่มาก และมีแนวทางที่ Data Driven (ใช้ข้อมูลนำ) ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยเครื่องเร่งอนุภาคในฝั่งของฟิสิกส์ หรือใน Human Genome Project ในด้านของชีววิทยา
อย่างไรก็ตามในอดีตก็มีการวิพากย์วิจารณ์อยู่ไม่น้อยว่าจะมันจะมีผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) กับงานวิจัยด้านอื่นเช่น Genetics ไหม แต่สุดท้ายก็ได้รับการผลักดันจนมีเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง DNA Sequencing ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวงการจนเกิดสาขาวิชาใหม่ๆ ในด้าน Omics เป็นต้น ในกรณีของ SynBio ก็มักจะเน้นไปที่ BioFoundry และ Automation ที่ช่วยให้ทำงานออกมาได้เร็วขึ้น หรือในด้านของการสร้างมาตรฐานระหว่างกลุ่มวิจัย (Standards) เพื่อให้การทำซ้ำหรือการต่อยอดเป็นไปได้ง่ายขึ้นกว่าเดิน ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สำคัญของวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพมายาวนาน ถึงขนาดที่หลายๆ คนก็คิดว่าการสร้างมาตรฐานนี้แหละคือการวิวัฒนาการของ Genetic Engineering ในยุคก่อนมาเป็น Synthetic Biology คือการทำให้มันมีมาตรฐานและใช้งานได้ถึงขนาดที่เด็ก ม. ปลายก็สามารถลงมือทำได้ อย่างไรก็ตาม อ. ต้นก็ยังคิดว่าหลักการทาง SynBio ก็ยังไม่ได้ก้าวข้ามความเป็น Small Science สู่ Big Science อย่างแท้จริงในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่ายังเป็นกระบวนการที่ดำเนินอยู่แต่ยังขาดการสนับสนุนอยู่อีกระดับหนึ่งเพื่อจะเทียบกับโครงการ Big Science อย่าง Human Genome Project หากว่าประเทศไทยสามารถสร้าง Infrastructure ที่เราสามารถมาแลกเปลี่ยนทรัพยากรและข้อมูลกันได้ภายในประเทศ ก็จะช่วยให้วงการ SynBio ในไทยขยับเขยื้อนให้ทันต่างประเทศได้อยู่บ้าง
แล้วประเทศไทยควรทำอะไรดีตอนนี้
ไอซ์เริ่มชวนคุยโดยยกตัวอย่างการสร้าง Engineering Biology Roadmap ของ EBRC ขึ้นมาเพื่อเป็นแนวทางการลงทุนในงานวิจัยด้านชีววิศวกรรม โดยหากแปลไทยก็อาจจะใกล้เคียงกับสิ่งที่เรียกว่า “ยุทธศาสตร์ชาติ” ซึ่งการที่หน่วยงานไม่ประสงค์กำไร (Non-profit Organization) เข้ามาจัดสรรค์นโยบายในด้านนี้อเมริกาได้ส่วนหนึ่งก็เพราะขนาดของวงการวิจัยในอเมริกาที่ใหญ่มากๆ และหน่วยงานรัฐเองที่มีเงินทุนวิจัยอยู่ในมือก็สามารถยกข้อมูลหรือข้อเสนอแนะจากหน่วยงานเหล่านี้เพื่อนำมาปรับใช้ในการกระจายทุนวิจัยเข้าไปในโครงการต่างๆ ได้ โดยยุทธศาสตร์เหล่านี้ก็สร้างขึ้นจากนักวิทยาศาสตร์ทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และนำเอาไปเสนอให้กับหน่วยให้ทุนต่างๆ เช่น NSF, DOE, NIH ของอเมริกา หากว่าทางกลุ่มวิจัยในไทยสามารถสร้างโมเดลที่สอดคล้องกับการพัฒนาของไทยออกมาได้ก็จะช่วยให้หน่วยงานรัฐบาลและเอกชนมีความเชื่อมั่นในการโอนถ่ายทุนวิจัยเข้ามาในวงการนี้ได้มากขึ้น
ประเด็นที่ย้งยี้คิดว่าสำคัญกับการพัฒนาของวงการในประเทศไทยเองก็คือการสร้างเครือข่ายให้หนาแน่นขึ้น ไม่ใช่แค่ระหว่างมหาวิทยาลัยแต่รวมไปถึงภาคเอกชนอย่างที่ SynBio Consortium กำลังทำอยู่ ไปจนถึงการสร้างเครือข่ายของ Infrastructure ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงเครื่องมือหรือการร่วมมือทางการวิจัย ที่หากได้รับการสนับสนุนจากรัฐหรือภาคีเพื่อให้การเข้าถึงทรัพยากรเหล่านี้เป็นไปได้ง่ายขึ้นก็น่าจะช่วยให้วงการสามารถพัฒนาไปได้รวดเร็วยิ่งขึ้นเช่นกัน ในเรื่องของการสร้างเครือข่ายเหล่านี้จำเป็นอย่างมากสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ในไทยหรือนักวิจัยที่อยากจะสร้างความร่วมมือกับกลุ่มวิจัยในไทยเอง โดยเฉพาะข้อมูลต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการประชุมวิชาการเองไม่ว่าจะเป็น Abstract ของงานวิจัย หรือรายชื่อผู้นำเสนอ หากสร้างฐานข้อมูลให้ค้นได้ในเวบไซต์ก็จะสามารถเพิ่มการเข้าถึงให้กับงานวิจัยในด้านนี้ได้มากขึ้น
สุดท้าย อ. ต้น ได้ให้คำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตั้งชื่อและสร้างคำนิยามของวงการเหล่านี้ เพราะในเชิงนโยบายแล้วการให้คำนิยามใหม่นี้เองจะมีความเกี่ยวพันกับการเข้าทรัพยากรและการลงทุนเป็นอย่างมาก เพราะหากว่าเราให้คำนิยามของชีววิทยาสังเคราะห์ไว้เหมือนๆ กับชีวเคมี หรือเทคโนโลยีชีวภาพ การลงทุนในด้านนี้ก็จะไปทับซ้อนกับแนวทางการลงทุนเดิม ซึ่งหากเป็นหัวข้องานวิจัยใหม่ๆ ก็มักจะไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรหากถูกจับกลุ่มรวมกับสาขาเดิมๆ ที่มีงานวิจัยหลากหลายที่ตรงกับคำนิยามของวงการนั้นมาแต่เดิม รวมไปถึงการควบคุมหรือผลักดันงานวิจัยเหล่านี้ก็จะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไร ตัวอย่างหนึ่งที่ อ. ต้น ยกมาเล่าให้ฟังก็คือการปรับตัวของ Genetics ไปเป็น Genomics หากว่าเราสร้างคำนิยามของ Genomics ว่ามันก็เป็นเพียงแค่ Genetics ที่พัฒนาขึ้นมา ก็คงไม่ได้มีการลงทุนเพิ่มเติมมากมาย แต่การสร้างหมุดหมายในระดับ Big Science อย่างการทำให้ Human Genome Sequence ทั้งหมดสามารถเข้าถึงได้สำหรับทุกคนนั้น มันก็ได้ยกระดับให้ Genomics แตกต่างออกไปจาก Classical Genetics ที่เน้นศึกษายีนหรือกลุ่มยีนที่มีประมาณไม่มากนัก โดยในกรณีของ SynBio เองก็ติดอยู่กับยึดโยงเข้ากับเทคโนโลยีปลายทางที่มีจุดยืนของตัวเองอยู่แล้ว
หากว่าเราสามารถยกประเด็นที่เป็น First Principle เช่นการทำให้เทคโนโลยีการสังเคราะห์หรือการอ่าน DNA ถูกลง 10 เท่า หรือทำให้ระยะเวลาที่ต้องใช้ในการค้นพบยีนใหม่ในการค้นพบแบคทีเรียกย่อยพลาสติกได้เร็วขึ้น 10 เท่า จะต้องมีการลงทุนด้านใดบ้าง ประเด็นหนึ่งที่ไอซ์ยกออกมาเป็นตัวอย่างอีกแนวทางหนึ่งคือการสร้างเทคโนโลยีของตัวเอง เช่น รถยนต์ที่มีการใช้งานและมีการประกอบอยู่มากมายในประเทศไทย แต่อาจจะขาดกระบวนการออกแบบและสร้างชิ้นส่วนทั้งหมดภายในประเทศเอง ซึ่งมองในมุมของ SynBio เอง การที่เรายังต้องพึ่งเทคโนโลยีหรือ Supply Chain ของ DNA synthesis & sequencing จากต่างประเทศ ก็เป็นประเด็นง่ายๆ ทำให้ประเทศไทยยังตามหลังภูมิภาคอื่นอยู่อย่างน้อยก็ในเรื่องของการส่งของไปมาระหว่างประเทศ
บทสนทนาแบบมีเวลาและสภาพคล่อง
ท้ายที่สุดสิ่งที่อยากจะฝากไว้จากผู้ร่วมเสวนาก็คือการเพิ่มพื้นที่ให้กับการสร้างสื่อแบบที่เรามาคุยกันแบบนี้ให้มากขึ้น การพูดคุยที่ลงลึกไปในระดับเทคนิคจากนักวิจัยที่คนทั่วไปสามารถฟังตามทันได้ยังขาดอยู่มากในวงการของไทย การประชุมใหญ่ๆ ที่มีผู้ร่วมประชุมหลายสิบคนมักจะขาดสภาพคล่องในบทสนทนา เพราะไม่รู้ว่าเมื่อไรจะถึงคิวตัวเองต้องพูดเสียที หากว่ามีพื้นที่ให้นักวิจัยรุ่นใหม่ได้ออกมาเล่าเรื่องงานวิจัยหรือมุมมองการทำงานวิจัยของตัวเองในรูปแบบที่หลากหลายยิ่งขึ้นก็จะสามารถยกระดับการยอมรับจากคนทั่วไปได้ รายการ “วงในชีววิทยาเหนือธรรมชาติ” ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการเสวนาแบบคล่องตัว (Agile Conversation) ในวงการชีววิทยาสังเคราะห์ของไทย ซึ่งถึงแม้ว่าการคุยกันสองสามคนแบบนี้จะไม่สามารถเก็บประเด็นทั้งหมดที่เกิดขึ้นในวงการได้ แต่ก็น่าจะช่วยเป็นจุดประเด็นการสนทนาของคนในวงการไปจนถึงบุคคลทั่วไปที่เข้ามาฟังได้ไม่มากก็น้อย โดยนอกจากหัวข้อ International Policy and Collaboration นี้ก็ยังมีประเด็นอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นด้าน Biochemicals, Biomaterials, Bionergy, และ Circular Economy ที่เราจะหยิบมาคุยกันเพิ่มเติมอีกในตอนต่อๆ ไป
Recap TL; DR
ผู้ร่วมสนทนา อาจารย์ต้น ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร นักวิจัยด้านชีววิทยาสังเคราะห์ในไทย, ผู้ก่อตั้งเพจ Biology Beyond Nature ย้งยี้ โศภิดา วงศ์วาสน์ นักวิจัยจาก University of Warwick ที่ทำงานวิจัยด้านการผลิตเครื่องสำอางจากเทคโนโลยีชีวภาพ และ ไอซ์ ชลพิสิฐ เกียรติเสวี (ผู้ดำเนินรายการ) นักวิจัยจาก MIT ที่เรียนปริญญาเอกจาก University of Washington
วงการวิจัยมีการติดต่อข้ามประเทศและข้ามสาขาอยู่เสมอ มีภาษาเฉพาะที่บางครั้งแม้แต่เจ้าของภาษาก็อาจไม่เข้าใจเท่าผู้ที่อยู่ในวงการเดียวกัน
อาจารย์ต้นเล่าถึงทุนวิจัยร่วมไทย-เยอรมัน, การขอทุนร่วมกับทีมวิจัยในไทยและต่างประเทศ, การขอทุนโดยตรงจาก US
ย้งยี้แบ่งปันประสบการณ์การสร้างความร่วมมือจากการพูดคุยไม่เป็นทางการที่งานประชุมวิชาการ จนพัฒนาเป็นความร่วมมือระหว่างกลุ่มวิจัยในอังกฤษและเดนมาร์ค
ความร่วมมือข้ามหน่วยงานสามารถเกิดขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น ระหว่างมหาวิทยาลัยในอังกฤษกับบริษัทเครื่องสำอางในฝรั่งเศส หรือระหว่างมหาวิทยาลัยกับศูนย์วิจัยระดับประเทศ
สหราชอาณาจักรสร้างวิสัยทัศน์ระดับชาติด้าน Engineering Biology (2023) โดยลงทุนกว่า 2,000 ล้านปอนด์ เพื่อก้าวขึ้นเป็นผู้นำในอีก 10 ปีข้างหน้า
Engineering Biology vs. Synthetic Biology ชีววิศวกรรม (Engineering Biology) เน้นการนำหลักการวิศวกรรมมาปรับใช้กับกระบวนการทางชีวภาพที่มีอยู่แล้ว
นโยบายของประเทศไทย อาจารย์ต้นอธิบายว่า Small Science เน้นการวิจัยแบบใช้สมมติฐานนำ ขณะที่ Big Science ต้องการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เน้นแนวทางใช้ข้อมูลนำ SynBioในไทย ในปัจจุบัน ยังไม่ได้ก้าวข้ามจาก Small Science ไปสู่ Big Science อย่างแท้จริง ต้องการการสนับสนุนอีกระดับ
แนวทางการพัฒนาสำหรับประเทศไทย
1. การสร้างยุทธศาสตร์ชาติ สร้างโมเดลที่สอดคล้องกับบริบทประเทศไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้หน่วยงานรัฐและเอกชน
2. การสร้างเครือข่าย เชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน รวมถึงการสร้างเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เพื่อให้เข้าถึงเครื่องมือและความร่วมมือทางการวิจัยได้ง่ายขึ้น
3. การสร้างฐานข้อมูล เพิ่มการเข้าถึงข้อมูลงานวิจัย และรายชื่อผู้วิจัย
4. การนิยามศาสตร์ใหม่ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรและการลงทุน
5. การตั้งเป้าหมายด้าน First Principle เช่น การทำให้เทคโนโลยีการสังเคราะห์หรือการอ่าน DNA ถูกลง 10 เท่า จะช่วยลดต้นทุนหรือเวลาในกระบวนการสำคัญ
6. การพึ่งพาตนเองทางเทคโนโลยี ลดการพึ่งพา supply chain จากต่างประเทศ
References
(3) SynBERC (Synthetic Biology Research Center) Archive by EBRC. https://ebrc.org/synberc/.